Tuesday, December 15, 2015

ดัชนีการอ่านคนไทยไม่ผ่านเกณฑ์ เฉลี่ย 40.4 หน้า อ่านผ่านจอมากกว่ากระดาษ


เมื่อวันที่ 15 ธ.ค. ที่ศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ในการประชุมระดมแนวคิด “การพัฒนาตัวชี้วัดวัฒนธรรมการอ่านของคนไทย” นางสุดใจ พรหมเกิด ผู้จัดการแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน สสส. กล่าวว่า การสร้างตัวชี้วัดวัฒนธรรมการอ่านระยะที่ 2 เป็นการวิจัยที่ต่อเนื่องจากระยะที่ 1 การสำรวจแบ่งประชากรที่ศึกษาเป็น 2 กลุ่ม คือ ประชาชนทั่วไปอายุตั้งแต่ 6 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป และกลุ่มเด็กปฐมวัยที่อายุต่ำกว่า 6 ปีบริบูรณ์ โดยผลการสำรวจพบว่า กลุ่มประชาชนทั่วไปจำนวน 1,753 ตัวอย่าง ใช้เวลาอ่านผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์มากกว่าสื่อสิ่งพิมพ์ โดยใช้เวลาอ่านผ่านสื่อสิ่งพิมพ์ 166 นาทีต่อสัปดาห์ ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ 222.5 นาทีต่อสัปดาห์ ร้อยละ 44.6 ไม่ซื้อหนังสือเลย สาเหตุที่ทำให้ไม่อยากอ่านหนังสือหรือสื่ออ่านต่างๆ เพราะชอบฟังวิทยุ ดูทีวีมากกว่า คิดเป็นร้อยละ 30.7 ไม่มีเวลาอ่าน ร้อยละ 29 และสายตาไม่ดี ร้อยละ 19.4


 นอกจากนี้ ร้อยละ 4.3 อ่านหนังสือไม่ออก เมื่อพิจารณาจากกำลังซื้อพบว่า ร้อยละ 18.2 มองว่าหนังสือมีราคาแพงเกินไป ร้อยละ 8.3 ไม่มีเงินซื้อ และร้อยละ 10.4 ไม่มีแหล่งให้ยืมหนังสือ ทั้งนี้ เมื่อนำผลทั้งหมดมาคำนวณดัชนีวัฒนธรรมการอ่านของประชาชนทั่วไป มีค่าเท่ากับ 40.4 หน้า หมายความว่าประเทศไทยยังมีวัฒนธรรมการอ่านที่น้อย หรืออาจเทียบเคียงได้ว่าคนไทยอ่านหนังสือเพียง 40.4 หน้าโดยเฉลี่ยแทนที่จะเป็น 100 หน้า

 นางสุดใจ กล่าวต่อว่า สำหรับกลุ่มเด็กปฐมวัย สำรวจข้อมูล 398 ตัวอย่าง จากพ่อแม่ผู้ปกครองพบว่า ระยะเวลาที่ใช้ในการอ่านหนังสือให้เด็กฟังเท่ากับ 709.5 นาทีต่อสัปดาห์ แบ่งเป็นการอ่านสื่อสิ่งพิมพ์ให้เด็กฟังเฉลี่ย 615.8 นาทีต่อสัปดาห์ และอ่านผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ 70.9 นาทีต่อสัปดาห์ โดยร้อยละ 74.6 มีการซื้อหนังสือให้เด็กอ่าน เมื่อสำรวจกิจกรรมที่ทำร่วมกันในครอบครัวที่ช่วยส่งเสริมการรักการอ่าน หรือการสร้างวัฒนธรรมการอ่านให้กับเด็กในรอบ 1 เดือนที่ผ่านมา พบว่าส่วนใหญ่ร้อยละ 62.6 มีการทำกิจกรรมร่วมกัน โดยร้อยละ 83.2 อ่านหนังสือให้เด็กฟัง รองลงมาเป็นการให้คำชมเวลาเด็กอ่านหนังสือ ร้อยละ 81.3 และใช้เวลาอ่านหนังสือด้วยกันร้อยละ 78.6 เมื่อคำนวณค่าดัชนีวัฒนธรรมการอ่านเด็กปฐมวัยเท่ากับ 49.6 คือ มีพ่อแม่การอ่านหนังสือให้เด็กฟังในระดับปานกลาง
       
 “ข้อเสนอแนะคือ ควรเน้นการรณรงค์ส่งเสริมให้ประชาชน พ่อแม่ ผู้ปกครองทุกเพศทุกวัยรักการอ่านมากขึ้น โดยสนับสนุนการมีพฤติกรรมตนเอง และเด็กๆ เยาวชนให้ชอบอ่านหนังสือากขึ้นกว่าระดับปัจจุบัน ส่วนกรณีเด็กเล็ก พ่อแม่ผู้ปกครองควรเพิ่มการอ่านหนังสือให้ลูกหลานฟังมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีต่อความสัมพันธ์และการสร้างนิสัยรักการอ่านให้กับเด็ก รวมถึงดูแลพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของเด็กในการใช้อุปกรณ์ดิจิตอล สนับสนุนและส่งเสริมการผลิต พัฒนาเนื้อหา และรูปแบบของข้อมูล/ความรู้ในรูปแบบสื่ออิเล็กทรอนิกส์ที่มีคุณภาพ เพื่อมุ่งพัฒนาความรู้ และทักษะตามความสนใจของกลุ่มคนต่างๆ” นางสุดใจ กล่าว

ที่มา ข่าวสด


0 comments:

Post a Comment

กด Like เพื่อร่วมติดตามข่าวใหม่ๆก่อนใคร

Advertisement

ข่าวที่มีผู้อ่านมากที่สุด

Flag Counter

Powered by Blogger.

กด Like = 1 กำลังใจ
กดพื้นที่ว่างหรือกากบาทด้านล่างเพื่ออ่านข่าว

Powered By | Blog Gadgets