Saturday, October 1, 2016

คันกั้นแตก สิงห์บุรีป่วน-ผวาน้ำทะลัก อยุธยาท่วมถึงพระประธานในโบสถ์!

น้ำทะลัก! ท่วม”วัดอัมพวา” บางบาล-อยุธยา อีก 50 ซ.ม.ถึงองค์หลวงพ่อโตในพระอุโบสถ เจ้าอาวาสระบุ หากเขื่อนเจ้าพระยาเร่งปล่อยน้ำในปีใด วัดได้รับผล กระทบทุกครั้ง ถือว่าเดือดร้อนซ้ำซาก ส่วนที่อ่างทองตลิ่งทรุดตัวดึงบ้านเรือนพังทลายลงแม่น้ำ ชาวบ้านสิงห์บุรีผวา ตลิ่งแนวป้องกันริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาจุดรับน้ำโค้งพรหมบุรีแตกเป็นรอยยาว นายกอบต.บ้านหม้อระดมคนเร่งนำดินอัดถม หวั่นน้ำท่วมชุมชน 200 หลังคาเรือน


เมื่อวันที่ 1 ต.ค. พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงการแก้ไขปัญหาอุทกภัยในหลายจังหวัดที่มีน้ำท่วมขังในย่านชุมชนและพื้นที่เศรษฐกิจ ว่า รัฐบาลมอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นหน่วยงานหลักแก้ไขปัญหาในแต่ละพื้นที่ ขณะนี้จำเป็นต้องผันน้ำหรือระบายน้ำเข้าไปในบางพื้นที่ โดยสร้างคันกั้นน้ำบังคับทิศทางการไหลของน้ำ ซึ่งกรมชลประทานและหน่วยงานจังหวัดจะพิจารณาว่าจะผันน้ำออกจากพื้นที่น้ำท่วมอย่างไรและจะผันน้ำไปไว้ที่ใด เพื่อไม่ให้กระทบต่อพื้นที่เพาะปลูกและที่อยู่อาศัยของประชาชน หรือมีผลกระทบน้อยที่สุด ส่วนพื้นที่เกษตรกรรมที่อยู่ระหว่างการเก็บเกี่ยวในเดือนต.ค.นี้ เมื่อเก็บเกี่ยวแล้วจะผันน้ำเข้าไปเก็บไว้ใช้ในฤดูกาลหน้า

ขณะที่สถานการณ์น้ำท่วม ที่จ.นครสวรรค์ นายธนาคม จงจิระ ผวจ.นครสวรรค์ พร้อมด้วยนายอำเภอหนองบัว เจ้าหน้าที่ปภ.จ. นครสวรรค์ สาธารณสุขจังหวัดนครสวรรค์ ผู้นำท้องถิ่นต.ห้วยร่วม อ.หนองบัว นำสิ่งของพร้อมเวชภัณฑ์ไปมอบให้ชาวบ้านเนินแต่ หมู่ 1 ถึงหมู่ 11 ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำป่าไหลบ่ามาจากจ.เพชรบูรณ์ เข้าท่วมในพื้นที่มีบ้านเรือนเสียหาย 521 ครัวเรือน

ด้านนายจิตตเกษมณ์ นิโรจน์ธนรัฐ นายกเทศมนตรีนครนครสวรรค์ เร่งตรวจสอบการปิดกั้นท่อระบายน้ำและติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพิ่มเติม บริเวณแนวป้องกันน้ำชุมชนชอนตะวัน หลังศูนย์ฝึกอบรมตำรวจภูธรภาค 6 เนื่องจากน้ำจากอำเภอลาดยาวที่ผ่านคลองโพธิ์มีปริมาณเพิ่มมากขึ้น แล้วเอ่อท่วมบ้านเรือนได้รับความเดือดร้อน 38 หลังคา เรือน พร้อมจัดเต็นท์ที่พักอาศัยชั่วคราว ส่งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขเข้าดูแลเพื่อบรรเทาความเดือดร้อน

ที่จ.สุพรรณบุรี สถานการณ์แม่น้ำท่าจีนวันนี้ยังคงมีปริมาณสูงขึ้นอีก 10 ซ.ม. หลังเขื่อนเจ้าพระยาระบายน้ำผ่านประตูระบายน้ำพลเทพ และประตูระบายน้ำท่าโบสถ์ลงสู่แม่น้ำท่าจีน ทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำท่าจีนเอ่อล้นตลิ่งท่วมที่ราบลุ่มใน 3 อำเภอ ได้แก่ อ.เมือง อ.บางปลาม้า และอ.สองพี่น้อง ส่วนที่ชุมชนวัดมเหยงค์ ต.ท่าระหัด อ.เมืองสุพรรณบุรี น้ำเอ่อล้นท่วมบ้านเรือนริมฝั่งแม่น้ำท่าจีนกว่า 300 หลัง ชาวบ้านต้องใช้เรือสัญจรเข้าออกหมู่บ้าน ว่าที่ร.ต.สุพีพัฒน์ จองพานิช ผวจ.สุพรรณบุรี ได้ประกาศเตือนให้ชาวบ้านริมแม่น้ำท่าจีนเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิดตลอด 24 ช.ม.

ขณะที่จ.อ่างทอง เกิดตลิ่งทรุดตัวดึงบ้านเรือนประชาชน หมู่ 1 ต.ตลาดกรวด อ.เมือง จ.อ่างทอง ซึ่งปลูกอยู่ติดริมแม่น้ำพังเสียหาย โดยเฉพาะบ้านของนายวิจิตร วงศ์วิจิตร วัย 39 ปี บริเวณชานบ้านที่เป็นคอนกรีตพังทลายลงแม่น้ำไปเกือบทั้งหมด นอกจากนั้น น้ำยังเซาะดินใต้ตัวบ้านจนเห็นเสาคอนกรีตทำให้ตัวบ้านด้านในแตกแยกออกจากกัน หลังจากระดับน้ำเจ้าพระยาเพิ่มสูงอย่าง ต่อเนื่องและไหลเชี่ยว

นายวิจิตรเปิดเผยว่า หลังระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นทำให้เซาะดินที่อยู่ใต้ตัวบ้านไปจนเกือบหมด จนชานบ้านคอนกรีตพังลงไปในน้ำ ตนและลูกๆ ต้องวิ่งหนีออกมา เมื่อออกมาดูก็พบว่าชานบ้านพังลงน้ำไปหมดจนเหลือแต่เสาบ้านลอยอยู่ ทำให้ทุกวันนี้นอนผวาว่าบ้านจะพังลงไปเมื่อไหร่ไม่รู้ จึงอยากจะวอนให้หน่วยงานของรัฐช่วยเหลือ สำหรับจ.อ่างทอง ปภ.จังหวัดรายงานมีน้ำท่วมบ้านเรือนแล้ว 908 หลังคาเรือน จาก 3 อำเภอ 11 ตำบล 36 หมู่บ้าน 908 หลังคาเรือน โดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเร่งสำรวจบ้านเรือนที่เสียหาย และเตรียมประกาศเป็นพื้นที่ภัยพิบัติ เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบ

ส่วนที่จ.สิงห์บุรี สถานการณ์น้ำแม่น้ำเจ้าพระยาที่จุดตรวจวัดน้ำสำนักบริหารจัดการน้ำและอุทกวิทยา กรมชลประทาน ต.บางพุทรา อ.เมือง จ.สิงห์บุรี เขื่อนเจ้าพระยาได้ระบายปริมาณน้ำลดลงแล้ว แต่ได้เกิดเหตุตลิ่งแนวป้องกันริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาด้านตะวันออก จุดรับน้ำโค้งพรหมบุรี ต.บ้านหม้อ อ.พรหมบุรี ซึ่งเป็นแนวกั้นน้ำป้องกันชุมชน 200 หลังคาเรือนแตกเป็นรอยยาว ประมาณ 3 เมตร นายกฯอบต.บ้านหม้อ ระดมเจ้าหน้าที่นำเครื่องจักรกลขนดินอัดถมแล้วปักแนวไม้เป็นระยะ 200 เมตร พร้อมวางกระสอบทรายป้องกันตลิ่งทรุดตัวเพิ่ม เนื่องจากเป็นจุดรับน้ำ เมื่อน้ำไหลแรงและเชี่ยวทำให้รอยต่อเขื่อนกับถนนดินแยกตัวออกจากกัน และพนังกั้นน้ำถูกน้ำกัดเซาะด้านล่าง จึงต้องทำแนวป้องกัน

ขณะที่ จ.พระนครศรีอยุธยา ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยายังคงเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะในเขตพื้นที่อ.บางบาล เนื่องจาก คลองบางหลวงรับมวลน้ำโดยตรงจากแม่น้ำเจ้าพระยา ทำให้มีระดับน้ำท่วมขังสูง นอกจากนั้นน้ำยังทะลักเข้าท่วมวัดอัมพวา หมู่ 1 ต.บางหัก อ.บางบาล ระดับน้ำสูงถึง 70-80 ซ.ม. โดยเฉพาะในพระอุโบสถฐานชุกชีของพระหลวงพ่อโต อายุกว่า 100 ปี พระประธานในพระอุโบสถ ซึ่งเป็นฐานกว้าง 4 คูณ 5 เมตร สูงประมาณ 1 เมตร ถูกน้ำท่วมนานเกือบ 1 สัปดาห์แล้ว ตรงฐานด้านหน้าพระพุทธรูปหน้าพระประธาน 4 องค์ถูกน้ำท่วมด้วย ส่วนเฉพาะองค์หลวงพ่อโตอยู่บนฐานสูง คงเหลืออีกประมาณ 50 ซ.ม.น้ำจะท่วมถึงองค์พระ

พระอธิการภิรมย์ ธัมมธีโร เจ้าอาวาสวัดอัมพวา เปิดเผยว่า หากเขื่อนเจ้าพระยาเร่งปล่อยน้ำในปีใด ทางวัดจะได้รับผลกระทบทุกครั้ง ถือว่าเดือดร้อนซ้ำซาก ขณะนี้ทางวัดได้คิดต้องการจะดีดโบสถ์เก่าหลังนี้สูงจากพื้นดิน 2.5 เมตร เพื่อหนีน้ำท่วม ประมาณการต้องใช้งบประมาณไม่ต่ำกว่า 5 ล้านบาท แต่ติดขัดที่ไม่มีหน่วยงานราชการใดสนับสนุนงบประมาณ ด้วยเป็นวัดยากจน ห่างไกล และคงต้องบอกบุญประชาชน แต่คงใช้เวลานานหลายปีกว่าจะได้เงินจำนวนนี้

สำหรับในพื้นที่จ.ปทุมธานี เจ้าหน้าที่พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดปทุมธานี พร้อมด้วยปลัดอำเภอหนองเสือ กำนันตำบลศาลาครุ อบต.ศาลาครุ ศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งจ.ปทุมธานี เข้าร่วมสำรวจและให้การช่วยเหลือมอบเครื่องอุปโภคบริโภคให้ชาวบ้านชุมชนเกาะลอย ต.ศาลาครุ อ.หนองเสือ จ.ปทุมธานี จำนวน 33 ครัวเรือน ที่ได้รับความเดือดร้อนจากอุทกภัยน้ำท่วม ขณะที่ระดับน้ำริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันตก บริเวณ ต.ท้ายเกาะ อ.สามโคก จ.ปทุมธานี ระดับน้ำสูงขึ้นมากแต่ประชาชนที่อาศัยอยู่ริมแม่น้ำได้เก็บสิ่งของขึ้นที่สูงตามที่ทางหน่วยงานของราชการประกาศไว้แล้ว

สำหรับในพื้นที่ภาคอีสาน ที่จ.นครราชสีมา นายวิเชียร จันทรโณทัย ผวจ.นครราชสีมา พร้อมด้วยนายกเทศบาลตำบลโคกสูง เจ้าหน้าที่ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด (ปภ.) นครราชสีมา และเจ้าหน้าที่ทหาร มทบ.21 ลงพื้นที่สำรวจความเสียหายและให้การช่วยเหลือราษฎร บ้านลำเชิงไกร หมู่ 9 ต.โคกสูง อ.เมือง จ.นครราชสีมา หลังเกิดฝนตกหนักทำให้ลำน้ำลำเชียงไกร ทะลักเข้าท่วมบ้านเรือนกว่า 500 หลัง และพื้นที่การเกษตรอีกกว่า 5 พันไร่ ระดับน้ำสูงเฉลี่ย 40-50 ซ.ม. โดยนำเครื่องอุปโภคบริโภคออกช่วยเหลือ และสั่งการปภ.จ.นครราชสีมา และเทศบาลตำบลโคกสูง ตั้งศูนย์ช่วยเหลือ ผู้ประสบภัยน้ำท่วม ส่วนสำนักงานเกษตรจังหวัดให้เร่งออกสำรวจความเสียหายพื้นที่การเกษตรเพื่อหามาตรการช่วยเหลือผู้ประสบภัย

นอกจากนั้น ลำน้ำจักราชยังทะลักล้นตลิ่งเข้าท่วมบ้านเรือนประชาชนใน อ.พิมาย จ.นครราชสีมา กว่า 20 หลังคาเรือน หลังจากที่มวลน้ำจากในพื้นที่อ.เมืองนครราชสีมา และอ.โนนไทย ไหลลงสู่ลำน้ำจักราช ก่อนไหลไปรวมกันลงสู่ลำน้ำมูล ส่งผลให้ ปริมาณน้ำเอ่อล้นตลิ่งไหลเข้าท่วมบ้านวังกุ่ม หมู่ 14 ต.ในเมือง อ.พิมาย ระดับน้ำสูงกว่า 30 ซ.ม. เนื่องจากเป็นพื้นที่ต่ำ ชาวบ้านต่างพากันเก็บทรัพย์สินที่มีค่าไว้บนที่สูงป้องกันน้ำท่วมเสียหาย บางรายขนย้ายไม่ทันทำให้น้ำท่วมตู้เสื้อผ้า เครื่องยนต์การเกษตร โดยคาดระดับจะเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง

ที่มา ข่าวสด


0 comments:

Post a Comment

กด Like เพื่อร่วมติดตามข่าวใหม่ๆก่อนใคร

Advertisement

ข่าวที่มีผู้อ่านมากที่สุด

Flag Counter

Powered by Blogger.

กด Like = 1 กำลังใจ
กดพื้นที่ว่างหรือกากบาทด้านล่างเพื่ออ่านข่าว

Powered By | Blog Gadgets