Friday, September 23, 2016

หั่นเหี้ยนทั้ง 6 ฉาก มิวสิคฯ “ทศกัณฐ์” งดฉายฉาก “หยอดขนมครก”

 

เผยเวอร์ชั่นใหม่เอ็มวีโปร โมตท่องเที่ยวไทยหั่นเหี้ยนฉากที่เดินเรื่องโดยทศกัณฐ์ ทั้งเล่นว่าวริมทะเล หยอดขนมครก ถ่ายเซลฟี่ ขับโกคาร์ต โดยให้สมุนยักษ์เป็นตัวแสดงแทน ผู้กำกับมิวสิควิดีโอ “บัณฑิต ทองดี”โพสต์วิดีโอที่แก้ไขปรับปรุงลงในเฟซบุ๊ก ยอมรับเป็นห่วงวัฒนธรรมการแสดงที่ถูกจับไว้สูง แตะต้องยาก ระบุวันหนึ่งอาจจะหายไปจากความทรงจำ เพราะกลายเป็นของศักดิ์สิทธิ์


เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 23 ก.ย. ที่โรงละครวังหน้า สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ (สบศ.) กระทรวงวัฒนธรรม จัดเสวนา”โขน นาฏกรรม ชั้นสูง องค์ความรู้คู่วัฒนธรรมชาติ” มีนาย จตุพร รัตนวราหะ ศิลปินแห่งชาติ ผู้เชี่ยวชาญ นาฏศิลป์ไทยโขนยักษ์ นายสมศักดิ์ ทัตติ ผู้เชี่ยวชาญ นาฏศิลป์ไทยโขนยักษ์ นาย ประเมษฐ์ บุณยะชัย ผู้เชี่ยวชาญนาฏศิลป์ไทย สบศ. และผู้จัดทำบทโขนพระราชทาน นายประสิทธิ์ ปิ่นแก้ว ศิลปินแห่งชาติ สาขาการแสดงโขนลิง นางรัจนา พวงประยงค์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดงละครนาง นายนธีรภัทร์ ทองนิ่ม ผู้ช่วยอธิการบดี สบศ. เป็นวิทยากร โดยนายสุรัตน์ จงดา ครูชำนาญการวิทยาลัยนาฏศิลป เป็นผู้ดำเนินรายการ

นายประเมษฐ์กล่าวว่า จากหลักฐานจารึกระบุว่าโขนมีมาตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ก่อนพัฒนาต่อยอดเป็นมโหรสพหลวงในสมัยกรุงธนบุรีถึงต้นรัตนโกสินทร์ เพื่อใช้ในพระราชพิธีสำคัญ กระทั่งสมัยแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ถือเป็นยุคเฟื่องฟูของการแสดงโขน มีการขับร้องและร่ายรำที่ประณีตสวยงาน ฉะนั้นโขนจึงเป็นวัฒนธรรมที่เป็นมรดกสำคัญของประเทศ การแสดงโขนในอดีตนั้นมีเฉพาะในราชสำนัก กลุ่มคนที่แสดงคือมหาดเล็ก หรือมีตำแหน่งหน้าที่ในราชการ ซึ่งการเล่นในสมัยนั้นไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพียงแค่ความบันเทิง แต่เป็น การฝึกระเบียบ วินัย พละกำลัง ความอดทน เพราะคนๆ หนึ่งกว่าจะสามารถเล่นโขนได้ ต้องใช้ระยะเวลาร่ำเรียนฝึกฝนนานกว่า 10 ปี ต้องฝึกตั้งแต่เด็ก ฉะนั้นโขนเป็นศิลปการแสดงที่มีจารีต

“แม้จะเคยเป็นการละเล่นในราชสำนัก แต่ปัจจุบันโขนถือเป็นศิลปะสาธารณะของคนไทย ทุกคนมีสิทธิ์นำไปใช้ประโยชน์ได้ แต่จะต้องเข้าใจบริบทของเนื้องาน สถานที่ที่นำไปใช้ และสิ่งที่ต้องการนำเสนอด้วย เพราะการแสดงโขนมีฐานานุศักดิ์ ทั้งหัวโขน ท่ารำ เครื่องแต่งกาย รวมถึงเพลงที่ใช้ประกอบ ฉะนั้นการนำโขนไปใช้ ผมจึงมองไม่ใช่เรื่องผิด เพราะสมบัติของชาติไม่ใช่ของใครคนใดคนหนึ่ง แต่เมื่อนำไปแล้วต้องพิจารณาให้ลึกซึ้งก่อนจะนำไปใช้ หากไม่ทราบก็ควรปรึกษาผู้รู้เพื่อให้ทำอย่างถูกต้อง สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ได้โทษว่าคนที่ทำผิด เพราะเขาอาจขาดความรู้ในเรื่องนี้” ผู้เชี่ยวชาญนาฏศิลป์ไทย สบศ. กล่าว

ด้านนางรัจนากล่าวว่า ขอยืนยันว่าพวกตนไม่ใช่นักอนุรักษ์หัวโบราณ เพราะถ้าเป็นหัวโบราณ นักศึกษาคงไม่เข้ามาเรียน แต่พวกตนเป็นนักสร้างสรรค์ที่อยู่ในจารีตของความเป็นนาฏศิลป์ ซึ่งโขนถือเป็นศิลปะชั้นสูง เนื่อง จากได้รวมทั้งวรรณกรรม วรรณคดี เครื่องแต่งกาย ดนตรี และการขับร้อง เข้าด้วยกันจึงเป็นศิลปะที่ไม่เหมือนศิลปะรูปแบบอื่น และต้องใช้เวลาเรียนค่อนข้างนาน ขอฝากไว้ว่ากว่านาฏศิลป์เป็นศิลปะที่ครูนาฏศิลป์หวง แหน แต่ไม่ได้หวงจนติดอยู่ข้างฝาแล้วดึงออกมาไม่ได้ ต้องมองให้ลึกมองให้ถูก เพราะนาฏศิลป์เป็นศิลปะชั้นสูงที่แตะต้องได้

ส่วนนายธีรภัทร์กล่าวว่า โขนเป็นศิลปะชั้นสูงที่มีระเบียบ ขั้นตอน จารีต และผู้แสดงจะต้องมีจรรยาบรรณที่เกิดจากการปลูกฝัง การสร้างสามัญสำนึกในตัวบุคคลและการ กระทำ ดังนั้นโขนจึงเป็นมรดกชาติที่คนไทยทุกคนจับต้องได้ แต่ที่นำไปแสดงต้องมีจรรยาบรรณ มีวิจารณญาณ และนำไปใช้ได้อย่างถูกที่ถูกทาง ถ้าไม่เข้าใจให้ถามผู้รู้ ซึ่งกรมศิลปากร สบศ. หรือกระทรวงวัฒนธรรมมีผู้ที่พร้อมให้ความรู้เกี่ยวกับมรดกของชาติที่ไม่ใช่เฉพาะโขนหลายท่าน ฉะนั้นจะต้องรู้กาลเทศะในการใช้ และคำนึงถึงสิ่งที่จะตาม เพราะถ้าไม่รู้และทำก็เหมือนดาบสองคม

ล่าสุด นายบัณฑิต ทองดี ผู้กำกับมิวสิค ดังกล่าว ได้โพสต์วิดีโอที่แก้ไขปรับปรุงใหม่ลงในเฟซบุ๊ก ซึ่งพบว่ามีการตัดฉากที่ดำเนินเรื่องโดยทศกัณฐ์ออก เช่น เล่นว่าวริมทะเล หยอดขนมครก เซลฟี่ ขับโกคาร์ต โดยให้สมุนยักษ์เป็นตัวดำเนินเรื่องแทน

นายบัณฑิต ทองดี หรืออ๊อด กล่าวว่า หลังจากเกิดกรณีปัญหาที่มีคนมาร้องเรียน ตนคิดว่าต้องแก้ไขมิวสิควิดีโอดังกล่าวอยู่แล้ว เพียงแต่ก่อนหน้าอาจจะประวิงเวลา เพื่อรอฟังกระแสจากทางกระทรวงวัฒนธรรมว่าจะช่วยตัดสินใจเรื่องนี้ยังไง เนื่องจากตอนแรกไม่ได้เข้ามาเกี่ยวข้อง คนที่ต้องการให้แก้ไม่ใช่กระทรวงวัฒนธรรม แต่เป็นอดีตผู้อำนวยการของสำนักเฝ้าระวังทางวัฒนธรรมซึ่งเกษียณไปแล้ว ซึ่งออกมาร้องเรียนขอให้แก้ไข จริงๆ ตนจะไม่แก้ไขก็ได้ เพราะไม่ได้เป็นองค์กร ที่จะมาฟ้องได้ แต่ที่แก้ไขเพราะคิดว่าหากมิวสิควิดีโอจะทำลายวัฒนธรรมในหมู่ของเขาจนทำให้ไม่สบายใจ รวมถึงมีกลุ่มคนทางด้านนาฏศิลป์หลายๆ ท่านมาช่วยกันคิดว่าไม่เหมาะสม ตนก็จะแก้ไขให้ ส่วนนี้คือขั้นตอนของการพูดคุยเบื้องต้นตั้งแต่วันจันทร์ที่ ผ่านมา แต่ที่บอกว่าประวิงเวลาอยู่คือรอว่าเผื่อทางกระทรวงวัฒนธรรมออกมาช่วยพูดไกล่เกลี่ยอาจจะไม่ต้องแก้ไข แต่ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม ก็บอกว่าแก้ไขเถอะจะได้จบเรื่อง ตนจึงต้องแก้ไขตามที่คุยไว้ตั้งแต่แรก

ผู้สื่อข่าวถามว่า แก้ไขทุกจุดตามที่ถูกร้องเรียนหรือไม่ นายบัณฑิตกล่าวว่า เกือบทุกจุด แต่ที่ตนขอไม่แก้ไขคือเรื่องที่นั่งสามล้อตุ๊กตุ๊ก เดิมทีที่จุดถูกร้องเรียนมาให้แก้ไขคือ 40 เปอร์ เซ็นต์ของมิวสิควิดีโอทั้งเรื่อง แต่ถ้าไม่แก้ไขตรงนั่งสามล้อตุ๊กตุ๊กก็จะเท่ากับแค่ 25 เปอร์ เซ็นต์ โดยให้เหตุผลว่าหากแก้ไขทั้งหมด 40 เปอร์เซ็นต์ มิวสิควิดีโอตัวนี้พังหมดแน่ๆ ไม่เหลืออะไรให้เป็นการท่องเที่ยวเลย เนื่องจากว่า จ.ตรัง ที่ไปถ่ายมาได้น้อยมาก มีแค่หมูย่าง สามล้อตุ๊กตุ๊ก และสถานีรถไฟกันตัง ถ้าเอาสามล้อตุ๊กตุ๊กออกไปก็จะเหลือแค่ 2 อย่าง ซึ่งไม่มีอะไรให้เล่นและน่าเบื่อ รวมถึงบอลลูนที่จ.เชียงราย ก็ขอไว้เช่นกัน เพราะตอนแรก ก็ถูกมองว่าไม่เหมาะสมเท่าไหร่ ส่วนที่จะแก้ไขให้คือกีฬาเอ็กซ์ตรีมต่างๆ เช่น โกคาร์ต สปีดโบ๊ต บานาน่าโบ๊ต หรือเล่นว่าวที่มันดูแล้วล่อแหลม เป็นต้น

ต่อข้อถามว่า 25 เปอร์เซ็นต์ที่ถูกแก้ไขออกไป ทำให้เนื้อหาที่จะนำเสนอหายไปด้วยหรือไม่ คนดูจะยังเข้าใจอยู่หรือไม่ ผู้กำกับคนเดิมกล่าวว่า เนื้อหาหายไปแน่นอน สำหรับคนที่เคยดูฉบับเต็มมาก่อน พอมาดูอันที่ถูกแก้ไข ก็น่าจะเข้าใจ ตอนนี้เนื้อหาที่เหลือและถือว่ายังสมบูรณ์แบบคือภาคเหนือ ภาคอีสาน และภาคใต้ แต่ว่าที่เนื้อหาหายไปเยอะๆ คือภาคตะวันออกและภาคกลาง เช่น ฉากหยอดขนมครก เล่นบานาน่าโบ๊ต ขี่โกคาร์ต ที่เมืองพัทยา จ.ชลบุรี หรือฉากขี่ม้า เล่นว่าว เดินชายหาด ที่ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ได้เอา ออกทั้งหมด

ต่อข้อถามว่าเริ่มแรกที่ ททท.ติดต่อมาให้กำกับมิวสิควิดีโอ ได้ให้คอนเซ็ปต์มาหรือไม่ว่าต้องการนำเสนอแบบไหน แล้วทำไมถึงเลือกที่จะหยิบตัวละครจากวรรณคดีรามเกียรติ์ อย่างทศกัณฐ์มาเดินเรื่อง อ๊อด-บัณฑิตเปิด เผยว่า ผู้ว่าจ้างได้คิดเบ็ดเสร็จมาแล้วว่าจะเป็นยักษ์รามเกียรติ์ซึ่งเป็นกระบวนการต้นน้ำ ส่วนตนเป็นแค่ปลายน้ำเท่านั้นเอง ผู้ว่าจ้างบอกว่าคิดคอนเซ็ปต์ยักษ์เที่ยวไทยมาอยากให้ตนช่วยมากำกับให้ โดยให้ช่วยคิดว่าจะถ่าย ยังไง ถ่ายที่ไหน และถ่ายยังไงบ้าง รวมถึง ผู้ว่าจ้างก็บอกว่าสิ่งที่คิดมาน่าจะทำได้ เพียงแต่ว่าทีมงานทุกคนก็ได้ป้องกันตัวเองไว้ก่อนด้วยการหาบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญทางด้านนาฏศิลป์มาเป็นที่ปรึกษาในกองถ่าย เลยได้ว่าจ้างบุคลากรมาให้คำปรึกษาและข้อมูลท่าทางและความเหมาะสมของกิจกรรมต่างๆ ที่ยักษ์ทำ

“ตลอดการถ่ายทำก็จะถามผู้เชี่ยวชาญตลอดว่าอันไหนได้และอันไหนไม่ได้ แต่ด้วยความที่ไปถ่ายกันเยอะมากอาจจะมีบางอย่างที่รอดหูรอดตาเขาไปบ้างเช่นอยู่ในจังหวะที่เขาไปทำธุระส่วนตัว ซึ่งตรงนี้ก็ถือเป็นความผิดพลาดทางผมด้วยที่ปล่อยหลุดออกมา แต่ทั้งหมดทั้งปวงก็ไม่ได้ทำโดยพลการหรือไม่คิดอะไร เพียงแต่ว่าถ้ามีอะไรที่หลุดไปบ้าง ก็อาจจะเป็นการผิดพลาดของการถ่ายทำ” นายบัณฑิตกล่าว

ต่อข้อถามในฐานะที่เป็นผู้กำกับมิวสิค “เที่ยวไทยมีเฮ” รู้สึกอย่างไรที่มีกรณีร้องเรียนเช่นนี้ขึ้นมา อ๊อด-บัณฑิตกล่าวว่า ส่วนตัวไม่ได้เป็นอะไร กระแสที่เกิดขึ้นก็เป็นความขัดแย้งที่เกิดขึ้นได้ในสังคม การทำงานทุกอย่างก็ต้องมีหลายมุมมองซึ่งเป็นเรื่องที่เข้าใจ ได้ แต่สิ่งที่เป็นห่วงคือเป็นห่วงเรื่องของวัฒนธรรมที่อาจจะถูกจับไว้สูงและแตะต้องยากเกินไป ทำให้วันหนึ่งคนรุ่นใหม่ก็ไม่สามารถจับต้อง เอามาใช้งาน หรือซึมซับกับมันได้ แล้ววันหนึ่งก็จะหายไปจากความทรงจำของคนรุ่นใหม่ กลายเป็นแค่ของศักดิ์สิทธิ์ของมีครูที่ไม่รู้แก่นรากเหง้าความสำคัญหรือเรื่องราวที่มาที่ไปว่าเป็นอย่างไร

ผู้สื่อข่าวถามถึงกระแสในโซเชี่ยลฯ ที่มีกลุ่มคนรวมตัวกันล่ารายชื่อเพื่อคัดค้านคนที่ออกมาร้องเรียน ผู้กำกับคนเก่งกล่าวว่า ดีใจที่มีคนเข้าใจและเห็นความตั้งใจจริงๆ ในสิ่งที่ทำออกมา มีคนเข้ามาให้กำลังใจเยอะมากจนน่าตกใจ ส่วนใหญ่เป็นคนที่ไม่รู้จักด้วยซ้ำ เรื่องที่เกิดขึ้นมีทั้งคนเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย แต่ในส่วนของภาพรวมก็อยากให้ยุติความไม่เข้าใจกัน หันมามองในมุมที่สร้างสรรค์งานและหาทางออกร่วมกันว่าวัฒนธรรมกับสื่อร่วมสมัยมันจะไปด้วยกันได้ยังไง เพื่อให้คนรุ่นใหม่ได้จับต้องง่าย ตอนนี้อาจจะต้องระงับความดราม่า ความขัดแย้ง หยุดทะเลาะกันผ่านโซเชี่ยลฯ สรุปว่าเรื่องทั้งหมดก็จบลงด้วยดี เรียกว่าเป็นการพบกันครึ่งทาง

ที่มา ข่าวสด


0 comments:

Post a Comment

กด Like เพื่อร่วมติดตามข่าวใหม่ๆก่อนใคร

Advertisement

ข่าวที่มีผู้อ่านมากที่สุด

Flag Counter

Powered by Blogger.

กด Like = 1 กำลังใจ
กดพื้นที่ว่างหรือกากบาทด้านล่างเพื่ออ่านข่าว

Powered By | Blog Gadgets