Sunday, December 13, 2015

ห้ามพลาด!! ฝนดาวตกตั้งแต่ 2 ทุ่มคืน 14 ธค.ถึงเช้ามืด 15 ธค. คาด 120 ดวง/ชั่วโมง

 

   วันที่ 13 ธันวาคม นายศรันย์ โปษยจินดา รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)(สดร.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี(วท.) ชวนชมฝนดาวตกส่งท้ายปี 2558 ฝนดาวตกเจมินิดส์  หรือ ฝนดาวตกกลุ่มดาวคนคู่ คืนวันที่ 14 ธันวาคม 2558 ตั้งแต่เวลาประมาณ 20.30 น. เป็นต้นไป จนถึงเช้ามืดวันที่ 15 ธันวาคม 2558 ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ หากฟ้าใส เห็นได้ทุกภูมิภาคของไทย แนะชมในที่มืดสนิท ไม่มีแสงไฟรบกวน จะเห็นได้ชัดเจน ปีนี้เหมาะแก่การสังเกตการณ์ฝนดาวตกเจมินิดส์เป็นอย่างยิ่ง เพราะตรงกับคืนเดือนมืด ดวงจันทร์ตกลับขอบฟ้าตั้งแต่หัวค่ำ จึงไม่มีแสงจันทร์รบกวนตลอดคืน คาดอาจมีอัตราตกสูงสุดถึง 120 ดวงต่อชั่วโมง


นายศรันย์ กล่าวว่า ในการนี้ สดร. จัดกิจกรรมสังเกตการณ์ฝนดาวตกเจมินิดส์ คืนวันที่ 14 ธันวาคม  ทั้งหมด 3 จุด  ประชาชนทั่วไปเข้าร่วมฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย ได้แก่  เชียงใหม่ - ร่วมกับอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ จัดกิจกรรมบริเวณจุดสูงสุดแดนสยาม ณ ยอดดอยอินทนนท์ อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่   สอบถามโทร. 053-225569 ต่อ 305 , 081-8854353  นครราชสีมา - หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา นครราชสีมา ภายในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี อ.เมือง นครราชสีมา สอบถามโทร. 044-216254 , 086-4291489  และ  ที่ จ.ฉะเชิงเทรา - หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา ฉะเชิงเทรา อ.แปลงยาว จ.ฉะเชิงเทรา  สอบถามโทร. 038-589396 , 084-0882264

 นายศุภฤกษ์ คฤหานนท์ หัวหน้างานบริการวิชาการทางดาราศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญการถ่ายภาพทางดาราศาสตร์ ได้แนะนำเทคนิคการถ่ายภาพฝนดาวตกว่า ควรใช้กล้องที่สามารถถ่ายภาพต่อเนื่องได้ ใช้ความไวแสงสูงๆ ตั้งแต่ ISO 1600 ขึ้นไป เพื่อให้กล้องมีความไวแสงในการบันทึกภาพฝนดาวตก รวมทั้งการตั้งกล้องบนขาตั้งกล้องที่มั่นคง และใช้เลนส์มุมกว้างเพื่อให้สามารถเก็บภาพท้องฟ้าให้ได้กว้างที่สุด โดยหันหน้ากล้องไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งเป็นทิศของศูนย์กลางการกระจายของฝนดาวตก บริเวณกลุ่มดาวคนคู่ซึ่งจะเริ่มโผล่ขึ้นจากขอบฟ้าตั้งแต่เวลาประมาณสองทุ่ม ของวันที่ 14 ธันวาคม เป็นต้นไป 

 สำหรับฝนดาวตกเจมินิดส์เกิดจากการที่โลกเคลื่อนที่เข้าตัดกับกระแสธารของเศษหินและเศษฝุ่นขนาดน้อยใหญ่ที่ดาวเคราะห์น้อย3200เฟธอน ทิ้งไว้ในขณะเคลื่อนผ่านเข้ามาในระบบสุริยะชั้นใน เมื่อโลกโคจรผ่านเส้นทางดังกล่าว สายธารของเศษหินและฝุ่นของดาวเคราะห์น้อยจะถูกแรงดึงดูดของโลกดึงเข้ามาเผาไหม้ในชั้นบรรยากาศโลกเกิดเป็นลำแสงวาบหรือในบางครั้งเกิดเป็นลูกไฟที่มีสีสวยงาม(fireball) ฝนดาวตกแตกต่างจากดาวตกทั่วไป คือเป็นดาวตกที่ มีทิศทางเหมือนมาจากจุดๆ หนึ่งบนท้องฟ้า เรียกว่า จุดศูนย์กลางการกระจาย (Radiant) เมื่อจุดศูนย์กลางการกระจายตรงหรือใกล้เคียงกับกลุ่มดาวอะไร ก็จะเรียกชื่อฝนดาวตกตามกลุ่มดาวนั้นๆ หรือ ดาวที่อยู่ใกล้กลุ่มดาวนั้น เช่น ฝนดาวตกกลุ่มดาวคนคู่ ฝนดาวตกกลุ่มดาวสิงโต เป็นต้น

ที่มา ข่าวสด


0 comments:

Post a Comment

กด Like เพื่อร่วมติดตามข่าวใหม่ๆก่อนใคร

Advertisement

ข่าวที่มีผู้อ่านมากที่สุด

Flag Counter

Powered by Blogger.

กด Like = 1 กำลังใจ
กดพื้นที่ว่างหรือกากบาทด้านล่างเพื่ออ่านข่าว

Powered By | Blog Gadgets