Saturday, October 31, 2015

ฝูงแมลงหล่าบุกแปลงนาข้าวนครปฐมเสียหายหนัก


   เมื่อวันที่ 31 ต.ค.58 นายพลายเพชร คุ้มวิเชียร อายุ 65 ปี อยู่บ้านเลขที่ 82 หมู่ 8 ต.บางภาษี อ.บางเลน จ.นครปฐม เกษตรกรชาวนา อ.บางเลน จ.นครปฐม เปิดเผยว่า ขณะนี้กำลังเป็นทุกข์หนัก เนื่องจากถูกแมลงหล่ายกทัพเข้ามากัดกินน้ำเลี้ยงของต้นข้าว จนได้รับความเสียหายอย่างหนัก ถึงกับยืนต้นตายและแห้งคาแปลงนาไปแล้วส่วนหนึ่ง ซึ่งที่แรกเข้าใจว่าหนูบุกเข้ามากัดกิน แต่เมื่อแหวกกอต้นข้าวที่ตายดูแล้ว ก็พบว่ามีแมลงหล่าที่ยังหลงเหลืออยู่ กระจัดกระจายอีกจำนวนมากจึงได้ว่าจ้างให้คนงานมาทำการหว่านปุ๋ย จากนั้นอีก 2 วันก็จะทำการฉีดยาฆ่าแมลงหล่าทันที แต่ก็ยังไม่รู้ว่าจะได้ผลหรือไม่ เนื่องจากแมลงชนิดนี้ฆ่ายากมาก และก็ยังไม่รู้ว่าแมลงชนิดนี้คือตัวอะไร เนื่องจากยังไม่เคยพบการระบาดของแมลงชนิดนี้เลย


  ลักษณะทั่วไปแมลงหล่าเป็นมวนชนิดหนึ่ง ตัวมีกลิ่นเหม็น ลักษณะลำตัวค่อนข้างกลมคล้ายโล่ ด้านหัวและอกเป็นรูปสามเหลี่ยม ลำตัวมีสีน้ำตาลดำหัวสีดำ ตัวเมียจะวางไข่เป็นกลุ่มตามกาบใบที่โคนกอข้าวตรงกลางกอในที่ร่ม หรือวางบนใบข้าว ส่วนใต้ใบ ด้านไม่ถูกแสงแดด แมลงชนิดนี้ชอบอาศัยอยู่ตามที่ชื้น สำหรับตัวอ่อนและตัวเต็มวัยจะดูดกินน้ำเลี้ยงบริเวณกอข้าว ในเวลากลางคืนมากกว่ากลางวัน ถ้าระบาดรุนแรงในระยะกล้า จะมองเห็นใบข้าวเป็นสีน้ำตาลเป็นกลุ่ม กระจายไปทั่วแปลง ใบข้าวจะม้วนตามแนวยาวของใบ ทำให้ต้นข้าวแกร็นและการแตกกอลดลง และถ้าระบาดในระยะออกรวง จะทำให้ออกรวงไม่สม่ำเสมอเมล็ด จะลีบทั้งรวงและ รวงข้าวจะมีสีขาว

 สำหรับวิธีการป้องกันและกำจัด ให้ใช้กับดักแสงไฟล่อ และทำลายแมลงหล่าในช่วงเวลากลางคืนและกำจัดวัชพืชที่ขึ้นหนาแน่นในนาข้าว เพื่อให้นาข้าวโปร่งแสงแดดส่องถึงโคนต้นข้าว หรืออนุรักษ์ศัตรูธรรมชาติ เช่น ด้วงดิน มวนกิ่งไม้ กบ จิ้งจก กิ้งก่า ช่วยทำลายโดยกินไข่ ตัวอ่อน และตัวเต็มวัยของแมลงหล่า หรือหากพบแมลงหล่ามากกว่า 5 ตัวต่อ 1 กอ หรือกลุ่มข้าว ควรใช้สารฆ่าแมลง คารโบซัลแฟน (พอสซ์ 20 % อีซี) อัตรา 80 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรืออิทริโพรล์ (เคอร์บิค 10 % เอสซี) อัตรา 50 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20ลิตร และสารคลอไทอะนิดิน (เด้นท๊อซ 16 % เอสจี) อัตรา 6 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร พ่นเฉพาะจุดที่มีการระบาด โดยพ่นบริเวณโคนต้นข้าว และพื้นที่ระบาดที่สามารถไขน้ำเข้านาได้ ให้ไขน้ำเข้าท่วมโคนต้นข้าว เพื่อให้นาข้าวไม่เหมาะสมต่อการ เจริญเติบโตและการเข้าทำลายของแมลงหล่าดังกล่าว

ที่มา banmuang


0 comments:

Post a Comment

กด Like เพื่อร่วมติดตามข่าวใหม่ๆก่อนใคร

Advertisement

ข่าวที่มีผู้อ่านมากที่สุด

Flag Counter

Powered by Blogger.

กด Like = 1 กำลังใจ
กดพื้นที่ว่างหรือกากบาทด้านล่างเพื่ออ่านข่าว

Powered By | Blog Gadgets