บุกจับแหล่งผลิตกางเกงยีนส์ปลอมเครื่องหมายการค้าย่านนนทบุรี ของกลางกว่า 3 พันตัวค่า 7 ล้าน
เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 12 ก.ค. ที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ.) พ.ต.อ.สิทธิชัย ลีลาสวัสดิ์ รอง ผบก.ปอศ. พร้อมด้วยพ.ต.อ.กิตติศัพท์ ทองศรีวงศ์ ผกก.4 บก.ปอศ. พ.ต.ท.สุรสิทธ์ มากเจริญ รอง ผกก.4 บก.ปอศ. พ.ต.ท.ดิเรก รุ่งเรือง รอง ผกก.4 บก.ปอศ. พ.ต.ท.ธนิต กรปรีชา สว.กก.4 บก.ปอศ. และเจ้าหน้าที่ตำรวจกก.4 บก.ปอศ. ร่วมกันแถลงข่าวผลการจับกุมนายนริศ สำราญรื่น อายุ 23 ปี และนายบุลากร อ้นบัณฑิต อายุ 42 ปี พร้อมของกลางกางเกงยีนส์ปลอมเครื่องหมายการค้ายี่ห้อดังประกอบด้วยลีวายส์ เกรส อีวีสุ และดีเซล จำนวน 3,262 ตัว แผ่นป้ายผ้า แผ่นป้ายกระดาษ แผ่นป้ายหนัง และกระดุมเครื่องหมายการค้ายี่ห้อลีวายส์ จำนวน 123,640 ชิ้น มูลค่าความเสียหาย 7,148,600 ล้านบาท
พ.ต.อ.สิทธิชัย กล่าวว่า สืบเนื่องจากเมื่อช่วงบ่ายของวันที่ 11 ก.ค. ที่ผ่านมา ทางเจ้าหน้าที่ชุดจับกุมได้รับแจ้งจากสายลับว่า มีผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาลักลอบผลิตและจำหน่ายกางเกงยีนส์ปลอมเครื่องหมายการค้ายี่ห้อดัง ซึ่งมีแหล่งผลิตอยู่ภายบ้านไม่มีเลขที่ ตั้งอยู่ในหมู่บ้านรัตนาธิเบศร์ หมู่ 6 ต.เสาธงหิน อ.บางใหญ่ จ.นนทบุรี จึงนำหมายค้นของศาลจังหวัดนนทบุรี ที่ 366/2559 ลงวันที่ 11 กรกฎาคม 2559 เข้าทำการตรวจค้นกระทั่งพบนายนริศ แสดงตัวเป็นผู้ดูแลบ้าน พร้อมของกลางกางเกงยีนส์ปลอมเครื่องหมายการค้ายี่ห้อแบรนดังประกอบด้วยลีวายส์ เกรส อีวีสุ และดีเซล รวมทั้งสิ้นจำนวน 3,262 ตัว มูลค่าความเสียหายประมาณ 978,600 บาท จึงตรวจยึดของกลางไว้เป็นหลักฐาน
รอง ผบก.ปอศ. กล่าวต่อว่า จากนั้นทางเจ้าหน้าที่ได้ขยายผลนำหมายค้นของศาลจังหวัดนนทบุรี ที่ 365/2559 ลงวันที่ 11 กรกฎาคม 2559 เข้าตรวจค้นบ้านไม่มีเลขที่ ซึ่งตั้งอยู่ใกล้กันพบนายบุลากร รับเป็นผู้ดูแลบ้าน พร้อมของกลางอุปกรณ์ในการผลิตกางเกงยีนส์ปลอมเครื่องหมายการค้ายี่ห้อลีวายส์ ประกอบด้วยแผ่นป้ายผ้า แผ่นป้ายกระดาษ แผ่นป้ายหนัง และกระดุมเครื่องหมายการค้ายี่ห้อลีวายส์ จำนวน 123,640 ชิ้น มูลค่าความเสียหายประมาณ 6,170,000 ล้านบาท จึงเก็บรวบรวมไว้เป็นหลักฐาน ก่อนนำตัวผู้ต้องหาทั้งสองรายมาสวบสวนเพิ่มเติม
พ.ต.อ.สิทธิชัย กล่าวอีกว่า ด้านผู้ต้องหาทั้งสองรายให้การรับสารภาพว่า เป็นผู้ผลิตกางเกงยีนส์ปลอมสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์จริง โดยใช้บ้านทั้งสองหลังเป็นแหล่งเก็บของกลางดังกล่าว ซึ่งทำมาประมาณ 2 ปี คอยจัดส่งให้นายทุนที่อยู่ในประเทศมาเลเซียในราคาตัวละ 240 บาท แต่ราคาต้นทุนเพียง 180 บาทเท่านั้น ทั้งนี้ นายทุนจะเขียนออเดอร์สินค้าใส่ลงในกระดาษเอ 4 ส่งมาที่ขนส่งสายใต้ใหม่ ซึ่งแต่ละครั้งจะต้องสั่งยกเหมากระสอบโดยบรรจุทั้งหมดจำนวน 80 ตัว ซึ่งแต่ละเดือนจะได้รับออเดอร์สินค้าประมาณ 2-3 พันตัว เมื่อผลิตสินค้าเสร็จก็จะจัดส่งผ่านทางรถขนส่งสินค้ากระทั่งมาถูกเจ้าหน้าที่เข้าจับกุมได้ดังกล่าว
เบื้องต้นเจ้าหน้าที่แจ้งข้อหา "มีไว้เพื่อจำหน่ายซึ่งสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าปลอม เครื่องหมายการค้าของผู้อื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วในราชอาณาจักร" มีโทษจำคุกไม่เกิน 4 ปี ปรับไม่เกิน 4 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ก่อนนำตัวผู้ต้องหาพร้อมของกลางทั้งหมดส่งพนักงานสอบสวนกก.4 บก.ปอศ. เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป
ที่มา ข่าวสด
0 comments:
Post a Comment